อาหารที่ดีของลูกเริ่มต้นที่ “นมแม่” ทารกแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน ให้น้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน วิตามิน ไขมัน แร่ธาตุต่างๆ ทำให้ลูกเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสมอง ลดโอกาสเกิดภูมิแพ้และการติดเชื้อที่ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหารอื่น มีโคลอสตรัมหรือนมน้ำสีเหลืองช่วงแรกของหลังคลอด ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และยังช่วยระบายขี้เทาซึ่งค้างอยู่ในลำไส้ทารก และสำหรับคุณแม่มดลูกเข้าอู่เร็ว น้ำหนักตัวลดลง ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ป้องกันโรคกระดูกพรุน
สารอาหารที่สำคัญของทารก
- พลังงานและโปรตีน แหล่งอาหารในช่วงแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน คือนมแม่ หลังจากนั้นเพิ่มเติมจากไข่ เนื้อสัตว์ต่างๆ
- ธาตุเหล็ก ร้อยละ 90 ของธาตุเหล็กที่ทารกต้องการได้จากอาหารเสริมตามวัย ได้แก่ ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์
- ไอโอดีน ช่วยการทำงานของต่อมไธรอยด์ ช่วยในการพัฒนาสมองและการเจริญเติบโตของร่างกาย ควรใช้เกลือไอโอดีนในการปรุงอาหาร
- แคลเซียม จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟัน ส่วนใหญ่ได้รับจากนม
- สังกะสี ช่วยการเจริญเติบโต สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกาย มีมากในเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
- วิตามินเอ เสริมสร้างเซลล์และระบบภูมิคุ้มกันช่วยเกี่ยวกับการมองเห็น แหล่งอาหารสำคัญคือ ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวเข้ม และผักผลไม้สีเหลืองแสด
หลักโภชนาการสำหรับเด็กแรกเกิด – 1 ปี
อาหารสำหรับเด็ก 0-6 เดือน
- 6 เดือนแรกให้กินนมเพียงอย่างเดียว น้ำนมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดของลูกน้อย (นมแม่มีน้ำอยู่เพียงพอ ประมาณ 80% ไม่จำเป็นต้องกินน้ำ)
อาหารสำหรับเด็ก 6 เดือน
- ช่วงวัยนี้ นอกจากนมแม่แล้วจะเริ่มให้กินอาหาร 1 มื้อ เช่น ข้าวบดละเอียดกับแกงจืด สลับไข่แดง (ครึ่งฟอง) ปลา ตับ ผักบด และกล้วยสุกครูด หรือผลไม้ เริ่มอาหารทีละอย่าง และครั้งละน้อยๆ โดยเริ่ม 1 ช้อนเล็ก แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น ถ้าทารกปฏิเสธไม่ยอมกินอาหารใด ให้เว้นไว้ 3-4 วัน แล้วกลับมาป้อนใหม่ ไม่แนะนำให้บดอาหารทุกอย่างเข้าด้วยกัน ให้ใช้ตะแกรงบดอาหารก็เพียงพอ
อาหารสำหรับเด็ก 7 เดือน
- กินนมแม่และอาหาร 1 มื้อ เช่น ข้าวบดละเอียดกับแกงจืด เพิ่มไข่ทั้งฟอง ปลา เนื้อสัตว์บด ผักหั่น และผลไม้
อาหารสำหรับเด็ก 8-9 เดือน
- กินนมแม่และอาหาร 2 มื้อ เช่น ข้าวหุงนิ่มๆ แกงจืด เพิ่มไข่ทั้งฟอง ปลา เนื้อสัตว์บด ผักหั่น และผลไม้ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นและอ่อนนุ่ม ข้นขึ้น
อาหารสำหรับเด็ก 10-12 เดือน
- กินนมแม่และอาหาร 3 มื้อ เช่น ข้าวหุงนิ่มๆ แกงจืด เพิ่มไข่ทั้งฟอง ปลา เนื้อสัตว์บด ผักหั่น และผลไม้ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น ให้อาหารหลากหลายชนิด และอาหารเริ่มหยาบ และเพิ่มชิ้นเล็กๆ
อาหารสำหรับเด็ก 1 ปี-1 ปีครึ่ง
- อาหาร 3 มื้อ นม 3 มื้อ มีสารอาหารครบเหมือนผู้ใหญ่โดยอาหารสุก อ่อน นุ่ม เป็นชิ้นเล็กๆ ให้เคี้ยวได้ เริ่มให้เด็กหัดใช้ช้อนด้วยตนเอง ถ้ายังหกอยู่ต้องปล่อยให้เด็กช่วยตนเองในการตักอาหาร และให้เด็กนั่งโต๊ะกินร่วมกับผู้ใหญ่เพื่อค่อยๆ ฝึกวินัย
**สำหรับเด็กที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ องค์การอนามัยโลก แนะนำให้เริ่มกินอาหารเร็วขึ้น ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป**
จุดประสงค์ของการให้อาหารเด็ก
- เพื่อฝึกพัฒนาการกลืน การเคี้ยวอาหารที่เปลี่ยนไปจากของเหลวเป็นของแข็ง
- รับรู้รสชาติอาหารอื่นนอกเหนือจากนม เพื่อเพิ่มสารอาหารให้แก่ลูก วิตามินเอ วิตามินซี ธาตุเหล็ก โปรตีน
- ฝึกให้ลูกกินเป็นมื้อหลัก เพื่อที่จะรับประทานอาหารเหมือนผู้ใหญ่ หลังอายุ 1 ปี และดื่มนมเป็นอาหารเสริม