ผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้ง่าย กว้าง และเร็วมากขึ้น ผ่านการพ่นควันหรือละอองไอของบุหรี่ ซึ่งประกอบด้วยสารคัดหลั่งน้ำลาย เสมหะ ที่เป็นตัวนำเชื้อ และเชื้อไวรัสยังอยู่รอดในอากาศได้นานถึง 5 นาที และเชื้อไวรัสโควิด-19 คุกคามประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งพิษภัยจากการสูบในยามปกติจัดว่ารุนแรงต่อสุขภาพในระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจึงสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้แน่นอน โดยเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสทั้งทางตรง และทางอ้อมดังนี้
ทางตรง
- คนสูบบุหรี่มีอัตราการติดเชื้อสูงกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติพบว่า บุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้มากถึง 16 เท่า
- เมื่อมีการติดเชื้อพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เกิดการหายใจลำบากและต้องเข้าไปรักษาในแผนก ICU ประมาณ 4.5% ขณะที่คนที่ไม่สูบบุหรี่มีอาการรุนแรงเพียง 1.3% เท่านั้น ต่างกันมากถึง 3 เท่า
- ภายหลังการรักษา พบว่าการสูบบุหรี่ทำให้หายจากอาการป่วยยากขึ้น ต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่นอกจากนี้ เมื่อรับการรักษาจนหายแล้วคนที่สูบบุหรี่มีโอกาสกลับมาเป็นโรคนี้ใหม่ได้อีก ในขณะที่ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ยังไม่มีรายงาน
- การใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วงปีที่ผ่านมา มีข้อมูลมากมายในหลายๆประเทศที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไอของบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบที่เรียกว่า EVALI ประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดทั้ง EVALI และปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19
ทางอ้อม
คนที่สูบบุหรี่มานานหลายปีแล้ว ควันและสารพิษจากบุหรี่อาจทำให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง เช่นโรคถุงลมโป่งพอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตหากป่วยด้วยการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่ไม่มีโรคเหล่านี้
การป้องกัน
- รักษาระยะห่างจากผู้อื่น (Social distancing) หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่ที่มีคนแออัด ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว
- สวมหน้ากากโดยเฉพาะคนป่วย การใส่หน้ากากและถอดหน้ากากอย่างถูกวิธีต้องสวมในส่วนของหน้ากากปิดทั้งจมูกและปากอย่างแนบสนิท ไม่หลวมหรือคับจนหายใจไม่ได้ ถอดหน้ากาก ระวังมิให้มือไปสัมผัสส่วนหน้าของหน้ากาก แต่ให้จับเฉพาะส่วนสายที่คล้องหู
ดังนั้นควรเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดโรคที่มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจาก COVID-19 ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ขอบคุณที่มาจาก : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)