ทำไม? ลูกน้อยควรได้รับวัคซีน...เพราะระบบภูมิคุ้มกันของทารกแรกเกิดยังทำงานไม่สมบูรณ์ อาจทำให้ลูกน้อยเจ็บป่วยติดเชื้อโรคได้ง่าย การฉีดวัคซีนจึงเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทาน ช่วยลดความรุนแรงและลดการเจ็บป่วยได้

วัคซีนสำหรับเด็กในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ

1. วัคซีนหลัก คือวัคซีนที่เด็กไทยควรได้รับตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่

  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอาจเป็นได้ทั้งเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อตับ โดยมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจมีอาการป่วยไม่รุนแรงอยู่ 2-3 สัปดาห์ หรืออาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยที่รุนแรงตลอดชีวิตได้ 
  • วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ซึ่งเป็นโรคที่พบได้มากในเด็กเล็ก และหากไม่ได้รับวัคซีนอาจเกิดผลแทรกซ้อนที่อันตรายต่อชีวิตได้ 
    • คอตีบ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ การติดเชื้อทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและประสาทอักเสบ
    • บาดทะยัก พิษของเชื้อจะทำลายระบบประสาท ทำให้มีอาการเกร็ง ขากรรไกรแข็ง คอแข็ง ชักกระตุกหายใจลำบาก อาจรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้
    • ไอกรน เกิดจากเชื้อไอกรนที่มีอยู่ในคอของผู้ป่วยที่เป็นโรค ทารกและเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม 
    • หัด มีไข้ มีน้ำมูก ตาแดง และมีผื่นที่ร่างกาย ซึ่งโรคหัดอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในหู ท้องร่วง และการติดเชื้อในปอด ทำลายสมอง และอาจส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
    • หัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน ทําให้มีไข้ เจ็บคอ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต บางครั้งอาจมีอาการปวดข้อได้
    • คางทูม มีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร ต่อมน้ำลายหลังใบหูบวม กดเจ็บ ความรุนแรงของโรคคางทูมอาจทำให้หูหนวก สมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี เกิดจากพาหะนำโรคหรือยุงรำคาญ มีไข้สูง ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 1-6 วัน ก่อนมีอาการระคายเคืองของเยื่อหุ้มสมองทำให้ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งเกร็งชักกระตุก หากอาการรุนแรงมากจะเสียชีวิต
  • วัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากฮิบ HIB เป็นชื่อของเชื้อแบคทีเรีย ย่อมาจาก Haemophilus influenzae type b เกิดจากหายใจหรือสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้ออยู่ในลำคอและน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ ทำให้เกิดโรคได้หลายชนิด ปอดบวม กล่องเสียงอักเสบ ผิวหนังอักเสบ ข้ออักเสบ และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม คอแข็ง มีภาวะช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กที่รอดชีวิตอาจมีความพิการทางระบบประสาทหรือมีภาวะหูหนวกตามมา
  • วัคซีนวัณโรค หรือวัคซีน BCG เกิดจากการรับเชื้อของผู้ป่วยโดยการ ไอ จาม หรือพูด เข้าร่างกายทางการหายใจ อาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะบางครั้งอาจมีเลือดปน เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายทุกวัน เหงื่อออกกลางคืน 
  • วัคซีนโปลิโอ เกิดจากเชื้อไวรัสทำลายระบบประสาท ส่งผลให้เกิดภาวะอัมพาต หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้ อาการที่ไม่รุนแรง จะมีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ อาเจียนปวดท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาการที่รุนแรง ปวดเกร็งกล้ามเนื้อจนกระทั่งมีอาการอัมพาตเกิดขึ้น หากเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อกระบังลมผู้ป่วยจะหายใจเองไม่ได้ ทำให้เสียชีวิต
2. วัคซีนเสริม คือวัคซีนที่อยู่นอกเหนือแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่
  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากการติดเชื้อ สามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม หรือสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัส โดยเชื้อจะเข้าฝังตัวในลำไส้แล้วค่อยๆ กระจายไปสู่ตับจนเกิดการอักเสบของตับ หลังจากได้รับเชื้อราว 1-2 สัปดาห์ ส่งผลให้เกิดภาวะอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และดีซ่าน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้ตับวาย และเสียชีวิตได้
  • วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในโพรงจมูกและคอ ติดต่อโดยผ่านการไอ จาม ทำให้เกิดการติดเชื้อที่มีความรุนแรงน้อยไปจนถึงระดับที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
  • วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า สาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงติดต่อโดยเข้าทางปาก ซึ่งเชื้ออาจปนเปื้อนมากับมือ สิ่งของ เครื่องใช้ หรือของเล่น อาการของโรค ได้แก่ มีไข้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ทำให้มีอาการขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากหรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจเกิดภาวะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • วัคซีนอีสุกอีใส ติดต่อผ่านทางละอองของน้ำลาย หรือรอยโรคบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ อาการ ปวดหัว ปวดเมื่อย ไข้ เบื่ออาหาร ผื่นแดง หลังจากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสทั่วร่างกาย
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อของผู้ป่วยโดยการไอหรือจามออกมา หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งโดยตรง มีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีน้ำมูกใส ไอแห้ง เบื่ออาหาร

ที่สำคัญลูกน้อยควรได้รับวัคซีนตรงตามวัย

  • การให้วัคซีนถูกกำหนดตามช่วงอายุ และระยะเวลาที่ร่างกายสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้อย่างเหมาะสม
  • ป้องกันและลดโอกาสการเกิดโรค การรับวัคซีนล่าช้าอาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการเป็นโรค การรับวัคซีนตามกำหนดเวลาบางชนิดต้องการการกระตุ้นหรือรับวัคซีนมากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงพอที่จะปกป้องลูกน้อย เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
  • เพื่อให้ภูมิคุ้มกันขั้นสูงพอที่จะป้องกันโรคได้ทัน  ลูกน้อยต้องการระยะเวลาหนึ่งที่วัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคที่อาจจะเกิดขึ้น และวัคซีนบางชนิดจำเป็นต้องได้รับหลายเข็ม ดังนั้นไม่ควรรอหรือเลื่อนการฉีดวัคซีน

สอบถามข้อมูลหรือนัดหมายเข้ารับบริการ : แผนกกุมารเวช โทร. 0-2867-0606 ต่อ 1106

Vaccine Package...Baby & Kids