โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีหลายตัวที่ทำให้เกิดโรคได้ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ 16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี 71 เป็นเชื้อที่รุนแรงที่สุด พบการระบาดช่วงฤดูฝน
อาการ : พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ปวดเมื่อย เป็นต้น โดยจะปรากฏอาการดังกล่าวอยู่ 3-5 วัน แล้วหายได้เอง หรือมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บปาก อาจมีน้ำลายไหล บางรายอาจไม่พบตุ่มพองแต่อย่างใด แต่บางรายจะมีอาการรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อจาก Enterovirus 71 อาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย โดยเป็นแบบ aseptic meningitis ที่ไม่รุนแรง หรือมีอาการคล้ายโปลิโอ ส่วนที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตจะเป็นแบบ encephalitis ซึ่งมีอาการอักเสบส่วนก้านสมอง อาการหัวใจวาย หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด
การแพร่โรค : เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรง โดยเชื้อจะติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้า หรือของเล่นที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพองแผลในปากหรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ระยะฟักตัวโดยทั่วไปมักเริ่มมีอาการป่วยภายใน 3 -5 วัน หลังได้รับเชื้อ
การรักษา : การรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้หรือยาทาแกปวด ในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ควรเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้รับประทานอาหารอ่อน ดื่มน้ำ น้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ แต่ในกรณีผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน เช่น รับประทานอาหารหรือนมไม่ได้ มีอาการสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายโปลิโอ จำเป็นต้องให้การรักษาแบบ intensive care และดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ
การป้องกันโรค :
- ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปากจากเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัส 71 (อีวี 71) เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - 5 ปี โดยฉีด 2 เข็มและเว้นระยะห่างจากวัคซีนเข็มแรกเป็นเวลา 1 เดือน สำหรับเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปากแล้ว สามารถฉีดได้แต่จะต้องหายจากโรคก่อนและต้องเว้นระยะห่างประมาณ 1 เดือน ทั้งนี้หากมีโรคประจำตัว รับประทานยา หรือแพ้ยา และมีความกังวล ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน
แต่ในสายพันธุ์อื่นๆ ของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคนี้ เช่น คอกซากีไวรัส เอ 16 ก็ยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันได้
- ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยและระมัดระวังการไอ จาม รดกัน
- ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร รับประทานอาหารและภายหลังขับถ่าย บ่อยๆ
- ใช้ช้อนกลางและหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หรือหลอดดูดน้ำร่วมกัน
- หมั่นทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมทุกวัน