งูสวัด คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคสุกใส พบได้บ่อยในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มักเกิดบริเวณผิวหนังตามร่างกาย และแสดงอาการออกมาในลักษณะของผื่นหรือตุ่ม จะขึ้นบริเวณแนวบั้นเอวหรือแนวชายโครง บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้า แขน หรือขา แต่จะมีลักษณะการขึ้นที่คล้ายกันคือขึ้นเพียงซีกหนึ่งซีกใดของร่างกายเท่านั้น โดยผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัด

         งูสวัด สามารถหายเองได้เป็นส่วนใหญ่ แต่บางคนหลังจากแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดตามเส้นประสาทนาน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ สำหรับในรายที่เสียชีวิตเกิดจากร่างกายอยู่ในช่วงอ่อนแอ และขาดภูมิต้านทาน โรคเชื้อไวรัสที่อยู่ในผื่นสามารถติดต่อโดยการสัมผัส สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อนก็อาจจะกลายเป็นโรคสุกใสได้ หรือคนที่เป็นโรคสุกใสมาแล้วก็จะมีโอกาสเป็นงูสวัดเพิ่มมากขึ้น



อาการของโรคงูสวัด

1. มีอาการปวดตามตัว ก่อนมีผื่น 2-3 วัน

2. มักจะไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ

3. มีอาการทางผิวหนัง อาจจะคันผิวหนัง บางคนมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือเสียวแปล๊บ

4. สำหรับคนที่เป็นบริเวณใบหน้าจะมีอาการปวดศีรษะ มองแสงจ้าไม่ได้

5. เมื่อผ่านไปประมาณ 1-5 วัน จะมีผื่นแดงอยู่เป็นกลุ่ม ต่อมาเป็นตุ่มน้ำใส มักจะขึ้นอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายตามเส้นประสาทที่เป็นโรค ตุ่มน้ำใสจะคงอยู่ประมาณ 5 วัน ต่อมาผื่นจะตกสะเก็ดและหายไปใน 2-3สัปดาห์ ซึ่งอาจจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้


ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัด

1. เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อน

2. อายุมาก

3. เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

4. มีความเครียด


การดูแลรักษา แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการปวด หรือลดไข้ ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็จะให้ยาปฏิชีวนะ

- สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสภายใน 2-3 วัน หลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยลดอาการปวดแสบ ปวดร้อนในภายหลังได้

- สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ รวมถึงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ต้องรักษาร่วมกับจักษุแพทย์ ซึ่งจะได้รับยาต้านไวรัสชนิดทาน และหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา


การป้องกัน

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็น

2. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น และตุ่มโรคของผู้ป่วยงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน

4. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

.

Better Health Bangmod Help...สุขภาพดี บางมดช่วยได้